“นาฬิกาโลกร้อน” หริอ Climate Clock เหลือเวลาให้พวกเราเพียง 6 ปีกว่าๆ ซึ่งเป้าหมายที่เป็นการทำงานร่วมกันในเวทีโลก ขณะนี้ไทยได้เข้าสู่ระยะที่ 2 ในการลดก๊าซเรือนกระจกที่เรียกว่า “Nationally Determined Contribution” หรือ NDC ที่ร้อยละ 20 - 25 ซึ่งภายในปี 2030 เรามุ่งเน้นการลดก๊าซเรือนกระจกในสาขาพลังงาน คมนาคมขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม และการใช้ผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการของเสีย” นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เผยถึงสถานการณ์สภาพแวดล้อมโลกระหว่างการเปิดงานครบ 1 ปี โครงการ Care the Whale ในปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “Survive Climate Tipping Point”
นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เล่าให้ฟังเกี่ยวกับ Care the Whale หรือ ขยะล่องหน โครงการนี้เราเริ่มมาแล้ว 1 ปี ภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) ในข้อ 13 “Climate Action” ข้อ12 “Responsible Consumption and Production” และข้อ 17 “Partnerships for the Goals” เน้นขับเคลื่อนการทำงานเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม สร้างสมดุลระบบนิเวศให้คงอยู่ สู่เป้าหมายการลดภาวะโลกร้อนอย่างยั่งยืน ด้วยแนวคิด กำจัดคำว่า “ขยะ” ให้หายไป ร่วมหาทางใช้ให้ถึงที่สุด
นายภากร เล่าต่อไปว่า ตลอดการดำเนินโครงการ 1 ปีที่ผ่านมา Care the Whale มีภาคีเครือข่ายแล้วกว่า 30 องค์กร โดยเฉพาะผู้ประกอบการในพื้นที่ ถ.รัชดาฯ 14 แห่ง ซึ่งผลลัพธ์ของการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากการบริหารจัดการขยะและคัดแยกขยะได้ถึง 4,268,495.04 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าการปลูกต้นไม้ใหญ่อายุ 10 ปี จำนวน 474,277 ต้น
“Care the Whale ในปี 64 นี้ เรามุ่งขยายความร่วมมือไปยังนอกพื้นที่ ถ.รัชดาฯ ปักหมุดเปิดรับทุกภาคส่วนโดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัด ซึ่งจะพัฒนา Climate Care Calculator Digital Platform เป็นเครื่องมือบริหารจัดการขยะและคำนวณเป็นตัววัดผลค่าการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกเพื่อสร้างประสิทธิภาพในการบริหารจัดการขยะในอนาคตจากนี้”นายภากร กล่าวทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้มที่มั่นใจ
การนำ “วาฬ” มาเป็นสื่อกลางในการนำเสนอแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนหรือ Circular Economy เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ปลุกจิตสำนึกให้กับสังคมในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ถือเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ที่ดีในการเชื้อชวนคนหันมาให้ความสำคัญเกี่ยวกับการแยกขยะ เห็นไหมเพียงแค่แยกขยะก็ช่วยโลกได้แล้ว ฉะนั้นเรื่องของการดูแลโลกเป็นหน้าที่ของทุกคน เรามาช่วยกันเพื่อสร้างโลกใบนี้ให้น่าอยู่ตลอดไป